1. วัดทักซัง ( Taktshang Goemba )


          วัดทักซัง  ตั้งอยู่บนหน้าผาสูง 900 เมตร ชายเขตเมืองพาโร วัดตักซังเป็นสถานที่แสวงบุญที่ชาวภูฏานเลื่อมใสศรัทธากันมากที่สุดแห่งหนึ่งในเขตหิมาลัยภายในเขตวัดมีสถานที่ศักดิ์สิทธิ์อยู่ทั้งสิ้น 13 แห่ง ล้วนมีความเป็นมาเกี่ยวข้องบุคคลสำคัญในประวัติศาสตร์ของภูฐาน
           

          วัดทักซังถูกสร้างไว้หน้าปากถ้ำซึ่งครั้งหนึ่งเคยเป็นสถานที่บำเพ็ญภาวนาของท่านกูรูรินโปเช ลามะ ผู้ซึ่งเข้ามาเผยแผ่ศาสนาพุทธในประเทศภูฏาน นักท่องเที่ยวต้องใช้เวลาเกือบทั้งวันในการขึ้นไปชมความสวยงามของวัดซึ่งไม่สามารถอธิบายออกมาเป็นคำพูดได้  การขึ้นวัดสามารถทำได้สองวิธีคือการเดินขึ้นด้วยเท้าหรือนั่งม้าขึ้นไป  หากเดินขึ้นไปวัดได้สำเร็จท่านก็จะได้รับผลบุญอย่างแรงกล้า แต่หากท่านขี่ม้าขึ้นไป แน่นอนบุญที่ท่านได้ก็ต้องแบ่งให้กับม้าที่ท่านขี่ขึ้นไปด้วย นี่คือความเชื่อของคนภูฏาน









2. เมืองกาซา


           เมืองกาซา  เป็นเมืองที่ตั้งอยู่ทางเหนือสุดของภูฏานซึ่งอยู่ติดกับเมืองพูนนาคา เมืองทิมพู และ วังดี โดยทางตอนเหนือของกาซาติดกับทิเบต เมืองอันสวยงามนี้ตั้งอยู่ที่ความสูงระหว่าง 1,500 ถึง 4,500 เมตรเหนือระดับน้ำทะเลซึ่งมีฤดูหนาวที่หนาวเย็นและฤดูร้อนที่สั่นแต่มีความสวยงาม

          กาซาเมืองต้นกำเนิด ถั่ง เช่า หรือ เห็ดหนอน สมุนไพรที่มีค่าพอๆ กับทองคำ ถึงแม้การไปเยี่ยมเมืองกาซาจะค่อนข้างลำบาก แต่ความสวยงามของเมืองก็ไม่อาจห้ามนักท่องเที่ยวให้เข้าไปอย่างไม่ขาดสาย  รายได้ของเมืองนอกจากจะมาจากการขาย ถั่ง เช่าแล้ว รายได้อีกส่วนยังมากจากการผลิตและขายผลิตภัณฑ์ที่มาจากตัวจามรี เช่นผ้าที่ทำจากขนจามรี ซีส เนย และเนื้อจามรี

3. เทศกาลฤดูร้อนเมืองฮา (HAA Summer Festival)



          เมืองฮา  เมืองที่ซ่อนความสวยงามเอาไว้  เริ่มด้วยการเดินทางสู่จุดที่สูงที่สุดในภูฏานที่รถจะขึ้นไปได้ ซึ่งเรียกว่า เชลีล่าพาส ที่ความสูง 3,988 เมตรเหนือระดับน้ำทะเล เพื่อชมความสวยงามของยอดเขาจูมูฮาลี ซึ่งเป็นยอดเขาที่สวยและศักดิ์สิทธิ์ที่สุดในภูฏาน เที่ยวภูฏาน ต่อด้วยการเดินทางลงสู่หุบเขาไปยังเมืองฮาหมู่บ้านเล็กๆ ที่เต็มไปด้วยวัฒนธรรมที่น่าสนใจและสวยงาม และจะโชคดีมากหากไปตรงกับช่วงเทศกาลระบำหน้ากากประจำปีประมาณช่วงต้นเดือนกรกฎาคม
       เป็นเมืองเล็กๆ ที่มีความสวยงดงามราวกับภาพวาด ล้อมรอบด้วยเทือกเขาสูงและป่าไม้ ทางตอนเหนือของเมืองฮามีสถานที่สำคัญ ร้านอาหาร และตลาด ส่วนทางตอนใต้จะเป็นที่อยู่ของชาวภูฏานที่มีวิถีชีวิตแบบดั้งเดิมและมีค่ายทหาร เมืองฮามีสถานที่สำคัญอย่าง Wangchulo Dzong ซองที่เพิ่งสร้างเมื่อปี 1913 โดยสมเด็จทวดของกษัตริย์องค์ปัจจุบัน มีความคล้ายคลึงพระราชวัง Wangdicholing ที่เมืองบุมตังซึ่งเป็นที่ประทับของกษัตริย์รัชกาลที่ 1 และรัชกาลที่ 2 นอกจากนั้นมีวัด Karpo และ วัด Nagpo หรือที่เรียกกันว่าวัดขาวและวัดดำ ทั้งสองวัดตั้งอยู่ในหมู่บ้านเล็กๆ ของเมืองฮา ชื่อหมู่บ้าน Dumchoe วัด Karpo โดดเด่นด้วยผนังวัดสีขาว ขณะที่วัด Nagpo แตกต่างด้วยผนังสีเทาดำ  
          สิ่งที่ดึงดูดนักท่องเที่ยวให้มาเยือนเมืองแห่งนี้มากที่สุดคือ เทศกาลฤดูร้อนเมืองฮา (HAA Summer Festival) ระบำหน้ากากที่มีตำนานเก่าแก่มาช้านาน






4. เขาซูริซอง ( Zuri Dzong )


             เขาซูริซอง (Zuri Dzong)  ยอดของซูริซอง  เป็นจุดในการชมทิวทัศน์ทั้งหมดของหุบเขาพาโร ซูริซองเป็นซองที่เก่าแก่ที่สุดของภูฏาน และภายในมีถ้ำที่พระพุทธเจ้าได้มาบำเพ็ญตนในช่วงศตวรรษที่ 8 สถานที่แสนสงบนี้ทำให้ชาวพุทธและนักท่องเที่ยวได้สัมผัสกับความศรัทธาที่แวดล้อมด้วยวิวทิวทัศน์อันยอดเยี่ยม คุณจะได้พบกับความอัศจรรย์และความน่าเกรงขามของสถานที่แห่งนี้


5. ทาชิโชซอง ( Tashicho Dzong )


           ทาชิโชซอง หรือ ป้อมปราการทิมพู (ตาชิโชซอง Tashicho Dzong) สัญลักษณ์ของทิมพู  เป็นตัวอาคารขนาดมหึมา เป็นสถาปัตยกรรมภูฏานที่งดงามดูประหนึ่งพระบรมมหาราชวังอยู่ริมแม่น้ำและเชิงเขา เป็นอาคารที่ทำการของรัฐบาล คณะกรรมการบริหารปกครองเมืองทิมพู ประกอบด้วยคณะสงฆ์ และข้าราชการระดับสูง  ภายในซองมีกลุ่มอาคารที่แยกออกเป็นเขตสังฆาวาส และเขตฆราวาสกับลานอเนกประสงค์ สถานที่จัดกิจกรรมสำคัญทางศาสนา หอกลางเป็นหอสูงสามชั้นอยู่ตรงกลาง เป็นที่ประกอบพิธีสำคัญและที่พำนักสงฆ์ห้องบูชาประดิษฐานพระพุทธรูปสำคัญต่าง ๆ









6. วัดคิชูลาคัง ( Kyichu Lhakhang)


          วัดคิชู (Lhakhang แปลว่า วัด) ตั้งอยู่ทางฝั่งซ้ายของเส้นทางไปวัดตั๊กซังและดรุ๊กเกลซอง วัดเก่าแก่ที่ตั้งอยู่ในเมืองพาโร  เป็นโบสถ์โบราณซึ่งพระเจ้าซังเซน กัมโป กษัตริย์ทิเบตทรงสร้างขึ้นตั้งแต่ปี พ.ศ. 1212 เป็นโบสถ์หนึ่งในโครงการสร้างโบสถ์ 108 แห่ง ภายในหนึ่งวัน ตามที่ทรงตั้งพระปณิธานเอาไว้

          ตามตำนานเล่าวว่า ในรัชสมัยของพระเจ้าซองเซนกัมโปแห่งทิเบต พระองค์ทรงโปรดให้สร้างวัดทั้งหมด 108 แห่ง เพื่อ ตอกอวัยวะ 108 จุดของนางยักษ์ชั่วร้ายตนหนึ่ง ซึ่งนอนตีแผ่ทั่วเทือกเขาหิมาลัย เพื่อไม่ให้พุทธศาสนาได้เปล่งรัศมีในบริเวณดังกล่าว โดยเริ่มที่วัดโจคังในกรุงลาซา ประเทศทิเบต เมื่อปี ค.ศ. 638 เชื่อว่าตรงจุดนี้เป็นหัวใจของนางยักษ์ สำหรับในดินแดนภูฏานปัจจุบัน พระองค์ทรงโปรดให้สร้างวัด 2 แห่งขึ้นพร้อมๆ กัน ได้แก่ วัดจัมปาในบุมธัง และวัดคิชูในพาโร ซึ่งตั้งอยู่บนเข่าซ้าย และเท้าซ้ายของนางยักษ์ตามลำดับ การสร้างวัดนี้เพื่อเป็นการสยบฤทธิ์ของนางยักษ์นั่นเอง

          ภายในวัดยังมีต้นส้มที่ออกผลทั้งปี และแน่นอนที่สุดหลายท่านไปวัดนี้เพื่อไปนั่งใต้ต้นส้ม หวังเพื่อให้ผลมันตกลงบนหัวซึ่งเชื่อกันว่าจะเป็นการนำโชคลาภมาให้ตัวเอง แต่ห้ามไปเขย่าต้นนะ









7. พูนาคาซอง ( Punakha Dzong )



           พูนาคาซอง หรือ ป้อมปราการแห่งพูนาคา เป็นซองก์เก่าแก่แห่งที่ 2 ของภูฏาน มีชื่อเต็มๆว่า Pungthang Dechen Phodrang ซึ่งมีความหมายว่า พระราชวังแห่งความสุขสำราญ เป็นที่ประทับของพระสังฆราชในฤดูหนาว เนื่องจากพูนาคามีอากาศไม่หนาวเย็นจนเกินไป ด้วยเหตุที่เป็นเมืองที่ตั้งอยู่บน พื้นที่สูงเพียง 1,468 เมตร เท่านั้นเมื่อเทียบกับเมืองอื่นๆ ที่นี่จึงมีอากาศอบอุ่นกว่า

          ในสมัยโบราณป้อมแห่งนี้มีความสูงเพียง 1,350 เมตร จนค่อยๆเริ่มเกิดชุมขนเป็นหมู่บ้านและโรงเรียนมัธยม  ถึงแม้ว่าพูนาคาจะเป็นเมืองเล็กๆ แต่กลับมีบทบาทสำคัญในหน้าประวัติศาสตร์ของภูฏาน เพราะที่นี่เคยเป็นเมืองหลวงในช่วงฤดูหนาวมานานถึง 300 ปี

          ตั้งอยู่ในเมืองพูนาคาระหว่างแม่น้ำโพ (พ่อ) และ แม่น้ำโม (แม่) พูนาคาเคยเป็นเมืองหลวงเก่าของภูฏาน ป้อมปราการนี้จึงมีความสำคัญและสวยงามติดอันดับต้นๆ ของประเทศ สถานที่นี้ยังใช้จัดพระราชพิธีต่างๆ ของราชวงศ์รวมไปถึงพระราชพิธีราชาพิเษกสมรสของสมเด็จพระราชาธิบดีจิกมี เคเซอร์ นัมเกล วังชุก ที่จัดขึ้นในปี 2554 และหากไปพูนาคาในช่วงฤดูใบไม้ผลิ (ก.พ. เม.ย.) ต้นศรีตรังที่บานสะพรั่งจะทำให้พูนาคาซองสวยขึ้นมาอีกหลายเท่าเลยทีเดียว












8. วัดชิมิลาคัง ( Chimi Lhakhang )

        วัดชิมิลาคัง (Chimi Lhakhang) เมืองปูนาคา วัดนี้ได้ถูกค้นพบในปี 1499 โดย พระองค์หนึ่งชื่อ งาหวัง ชอคเยล ตามตำนานเล่าว่า ดรุกปา คุนเลย์ ได้พบผู้ชายคนหนึ่งชื่อ เทชิน ที่ถูกขังโดยญาติของเขา ซึ่งเทชินกำลังสอนให้ลูกศิษย์ท่องคำถอนคำสาป จากนั้นเทชินก็ได้สอนดรุกปาเกี่ยวกับพิธีถอนคำสาป เมื่อสำเร็จปฏิบัติเทชินก็ได้หายตัวไปกับสายรุ้ง คนภูฏานเชื่อว่า เมื่อพวกเขาไม่ประสบความสำเร็จในเรื่องคู่ครอง ก็จะมาแสวงบุญที่นี่ เพราะเชื่อว่า เป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์

          วัดศักดิ์สิทธิ์แห่งนี้ตั้งอยู่บนยอดเนินเขาที่มีลักษณะคล้ายเกาะ จุดที่ตั้งวัดอยู่ห่างจากเมืองพูนาคาไม่ไกลซึ่งชาวไทยบางคนตั้งใจที่จะไปวัดนี้เพียงเพื่อ ขอบุตร ซึ่งหลายต่อหลายท่านก็ได้สมใจตามปรารถนามานักต่อนัก การขอบุตรเริ่มด้วยการไปหาลามะ (พระชั้นผู้ใหญ่) โดยท่านจะทำการเคาะหัวผู้หญิงที่ต้องการขอบุตรด้วย งาช้างขนาดยาว 10 นิ้ว ต่อด้วย แท่งไม้ และ ศิวลึงค์ ที่แกะสลักมาจากกระดูก หากสำเร็จท่านอาจจะต้องกลับมาที่วัดเพื่อให้ลามะตั้งชื่อเป็นภาษาภูฏานอีกครั้ง ซึ่งโดยส่วนใหญ่เด็กที่เกิดจากการขอบุตรที่วัดนี้จะชื่อ คุนเล่ห์ตามชื่อของบุคคลที่นำศิวลึงค์มาจากจากทิเบต